มิตซูบิชิ ปาเจโร (Mitsubishi Pajero) เป็นรถยนต์ SUV ขนาดใหญ่หรือ Full-Size SUV ซึ่งผลิตโดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เมื่อปี พ.ศ. 2525 เปิดตัวรถจี๊ปในนาม “ปาเจโร่” ครั้งแรกของโลก ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ ปี 1973 มิตซูบิชิ ปาเจโร เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534
มิตซูบิชิ ปาเจโร เป็นรถ SUV ขนาดใหญ่ที่ยังมีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน ปาเจโรแบ่งออกเป็น 4 เจเนอเรชั่น (โฉม) ตามช่วงเวลาได้ดังนี้
โฉมนี้ ปาเจโร มีระบบเกียร์ 2 แบบ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด กับธรรมดา 5 สปีด มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ LWB และ SWB โดย SWB จะเป็นรถที่เล็กกว่า เตี้ยกว่า บอดี้สั้นกว่า ล้อเล็กกว่า ถังน้ำมันจุได้น้อยกว่า แล้วแต่ลักษณะการใช้งาน
เริ่มมีการผลิตรถปาเจโรขับเคลื่อนสี่ล้อ เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลแบบมีอินเตอร์คูลเลอร์ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 และต่อมา ปาเจโรก็เน้นผลิตรถขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นหลักในที่สุด
พ.ศ. 2534 มิตซูบิชิ ส่งปาเจโร โฉมใหม่ เข้าสู่ตลาดแทนโฉมนี้ และในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัท Hyundai Precision Products (ปัจจุบันคือ Hyundai Mobis) ในเครือฮุนได ได้รับสิทธิ์ในการผลิตรถโดยใช้โครงสร้างหลักของปาเจโรโฉมแรกนี้ และมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2546 โดยใช้ชื่อ Hyundai Galloper และแม้ว่าจะใช้โครงสร้างหลักของโฉมแรก แต่ก็มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกให้มีความใกล้เคียงกับปาเจโรโฉมที่สอง
ในประเทศไทย ปาเจโรโฉมที่หนึ่ง ถูกนำเข้ามาขายในปี พ.ศ. 2534 โดยบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เอ็มเอ็มซี สิทธิผลในยุคนั้น) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดตัวปาเจโรโฉมที่สองแล้ว จนถึงปี พ.ศ. 2537 มีเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล 2.5 ลิตร ถึงแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นการนำรถเก่ามาโละก็ยังได้รับความนิยม เนื่องจากในขณะนั้นรถ SUV ในตลาดมีไม่มากนัก ภาพลักษณ์ของปาเจโรรุ่นนี้ในประเทศไทยคือรถกึ่งลุยกึ่งหรู
และโฉมนี้ เป็นโฉมที่สองที่ปาเจโร มีชื่อเสียงในเมืองไทยในฐานะรถ SUV ขนาดกลาง (คล้ายๆ รถ จี๊ป) โดยเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการเพิ่มรุ่น V6-3000 แม้ออพชันจะน้อยกว่ารุ่น V6-3500 ก็ตาม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 มิตซูบิชิจึงได้ส่งปาเจโร โฉมใหม่ เข้าสู่ตลาดแทนโฉมนี้
นอกจากนี้ ในบางประเทศ จำเป็นต้องใช้ชื่อ Montero รวมถึงญี่ปุ่นในรุ่น 3 ประตูด้วย เนื่องจากคำว่า Pajero นั้น ในภาษาสเปนแปลว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง มิฉะนั้นชะตากรรมจะเหมือนกับ Chevrolet Nova ซึ่งขายไม่ออก เนื่องจากคำว่า "no va" ในภาษาสเปนแปลว่า ไม่วิ่ง
ยุคนี้ ปาเจโร ยังมี 2 ชนิด คือ LWB และ SWB ตามเดิม มีการใส่เทคโนโลยีลงไปเพื่อให้ขับได้ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น ปลอดภัยขึ้น หรูหราขึ้น ขีดจำกัดในการขับดีขึ้น และมีรูปทรงที่โค้งมนขึ้น
โฉมที่ 3 นี้ มีการปรับโฉม (Minorchange) ในช่วง พ.ศ. 2546 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 มิตซูบิชิ ส่งปาเจโร โฉมล่าสุด เข้าสู่ตลาดแทนโฉมนี้ โฉมที่ 3 จึงเลิกผลิตไป
ในประเทศไทย มีการเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2543 ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิมแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Pajero เนื่องจากราคาค่าตัวขยับไปมากเลยทีเดียว ประกอบกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ในปี พ.ศ. 2546 หลายๆ อย่างเลยสะดุดไปบ้าง
โฉมที่ 4 นี้ เป็นโฉมล่าสุดของปาเจโร และการแบ่งเกรด LWB , SWB ยังคงมีอยู่ แต่ความจุน้ำมัน กับความกว้างของทั้ง 2 เกรด เท่ากัน (โฉมก่อนๆ ทั้งความกว้าง ยาว สูง ความจุน้ำมัน ขนาดล้อ จะแตกต่างกัน) ส่วนความยาว ความสูง และขนาดล้อ ยังต่างกันอยู่ แต่ Pajero รุ่นนี้กลับถูกมองว่าเป็นการ Minochange มาจากรุ่นเดิม เนื่องจากบริษัท Mitsubishi Motors ประสบภาวะการเงินมาหลายปีแล้ว จึงไม่ค่อยมีเงินพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ นัก และต้องลากขายรถบางรุ่นมาเกือบ 10 ปีด้วยซ้ำ
ในประเทศไทย ทางมิตซูบิชิประเทศไทยได้นำเข้าปาเจโรมาจำหน่ายเช่นเดียวกับ 3 โฉมก่อนหน้านี้ โดยได้เริ่มจำหน่ายในปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน เลิกจำหน่ายแล้ว และยังมีมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต โดยใช้ส่วนหน้าและโครงสร้าง กับ มิตซูบิชิ ไทรทัน ยอดจำหน่ายนั้นดีกว่า มิตซูบิชิ ปาเจโร อีก สาเหตุที่ปาเจโรรุ่นนี้ขายไม่ค่อยดี เนื่องจากราคาที่แพงและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สิ้นเปลือง สวนทางกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงภาพลักษณ์ด้านศูนย์บริการดีๆ ซึ่งหาได้น้อย ทำให้ยอดขายไม่ดีและเป็นรถหายากในทุกวันนี้ แม้จะเป็นรถใหม่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม มิตซูบิชิ ปาเจโร เตรียมเปลี่ยนโฉมในปี พ.ศ. 2558